วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความหมายและความสำคัญของการจัดการการคลังภาครัฐ

ความหมายของการคลังภาครัฐ

การคลังภาครัฐ (Public Finance) หมายถึง การคลังในส่วนของรัฐบาล หรือการคลังในกิจกรรมที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ การคลังภาครัฐ หรือการคลังของรัฐบาลเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมทางการคลัง การเงินต่างๆ ของรัฐบาลที่ถือเป็นหน่วยที่สำคัญหน่วยหนึ่งของระบบสังคม เนื่องจากมีผลผูกพันและกระทบไม่เฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมักจะส่งผลกระทบและผูกพันถึงคนในอนาคตหรือในยุคต่อไปด้วย

·การคลังภาครัฐ ครอบคลุมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศแทบทุกประการ โดยอาจแบ่ง

ปัญหาได้เป็น 4 ประการใหญ่ๆ คือ

1)ปัญหาการจัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation)

2)ปัญหาการกระจายรายได้ประชาชาติ (Income Distribution)

3)ปัญหาการทำให้คนมีงานทำ (Full Employment)

4)ปัญหาเสถียรภาพของระดับราคาและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Price-Level Stability and Economic Growth)


·การคลัง เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเข้าไปมีบทบาทในทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในด้าน

ต่างๆ รวม 4 ด้าน คือ

1) การจัดสรรทรัพยากร (The Allocation Function)

2) การกระจายรายได้ประชาชาติ (The Distribution Function)

3) การรักษาเสถียรภาพและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (The Stabilization Function)

4) การประสานงบประมาณ (Coordination of Budget Functions)


·การคลัง เป็นการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานด้านการเงินของรัฐบาล ซึ่งในทางปฏิบัติ

จะเกี่ยวข้องกับรายได้ของรัฐบาล (Government Revenue) ที่ได้มาจากภาษีอากรและแหล่งรายได้อื่นๆ รายจ่ายรัฐบาล (Government Expenditure) หนี้ของรัฐบาล (Government Debt) หรือหนี้สาธารณะ (Public Debt) และนโยบายการคลัง (Fiscal Policy)


·การคลังภาครัฐ (Public Finance) ที่เรียกกันอยู่ทั่วไปนั้นเป็นคำที่ไม่ตรงกับความหมายตาม

ตัวอักษรที่คำนี้ควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินและโดยเหตุผลดังกล่าวผู้แต่งตำราบางคนจึงนิยมที่จะเรียกคำนี้ว่า “เศรษฐศาสตร์ในภาครัฐ (Public Sector Economics)” หรือ “เศรษฐศาสตร์ของรัฐ Public Economics)” แทน โดยหมายถึงหน้าที่ทางเศรษฐศาสตร์จุลภาคของรัฐบาลในการจัดสรรทรัพยากรและการกระจายรายได้ รวมทั้งหน้าที่ทางเศรษฐศาสตร์มหภาคของรัฐบาลในการจัดเก็บภาษี การใช้จ่าย และการใช้นโยบายการเงินที่มีผลต่อภาพรวมการว่างงานในทุกระดับ และต่อระดับราคา

·การคลังภาครัฐ (Public Finance) เป็นการศึกษากิจกรรมการหารายได้และการใช้จ่ายของ

รัฐบาล การอธิบายเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ภาษีอากร รายจ่ายสาธารณะ และหนี้สาธารณะ การคลังภาครัฐเป็นการศึกษาผลกระทบต่างๆ ของงบประมาณต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายสำคัญทางเศรษฐกิจในด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนประสิทธิภาพการบริหาร นอกจาหนี้ การคลังภาครัฐยังเป็นการศึกษาถึง “สิ่งที่ควรจะเป็น (What to be)” การทำความเข้าใจการคลังภาครัฐจะทำให้สามารถอธิบายประเด็นสาธารณะต่างๆ ดังต่อไปนี้ได้ดีขึ้น

1) กิจการของรัฐควรมีขอบข่ายครอบคลุมถึงอะไรบ้าง

2) บริการสาธารณะประเภทใดควรจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบจัดให้ บริการของส่วนกลาง

หรือส่วนท้องถิ่นจึงจะถูกต้อง

3) ระบบภาษีอากรที่กำลังใช้อยู่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหรือไม่

4) เหตุใดท้องถิ่นจึงประสบปัญหาในการบริหารงานมากมาย และท้องถิ่นควรจะหาทางออก

ของท้องถิ่นเองอย่างไร เพื่อให้ส่วนกลางเข้ามาแทรกแซงได้น้อยที่สุด

5) รัฐบาลจะมีวิธการอย่างไรในการรับมือกับวงจรธุรกิจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมา

ก่อนอันสืบเนื่องจากความพลาดพลั้งของมนุษย์ หรือเมื่อมีการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจผิดพลาด

6) เหตุใดจึงต้องกังวลกับการเป็นหนี้ของประเทศชาติ

การคลังภาครัฐ หรือ การคลังรัฐบาล ประกอบด้วยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี พฤติกรรม กิจกรรมการดำเนินงาน ตลอดจนแนวปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับ การหารายได้ การใช้จ่ายสาธารณะ การภาษีอากร การก่อหนี้สาธารณะ การใช้จ่ายของรัฐบาล บทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ระดับประเทศ และ/หรือระดับท้องถิ่น รวมทั้งการศึกษาผลกระทบจากกิจกรรมการดำเนินการต่างๆ ทางการคลังของรัฐบาลที่มีต่อสังคมและประเทศโดยส่วนรวม


ความสำคัญของการคลังภาครัฐ

จากความหมายของคำว่า การคลังภาครัฐ (Public Finance) จะเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเมืองการบริหาร เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศที่ยากจะแยกประเด็นออกจากกันได้ชัดเจนที่นักวิชาการบางท่านเอ่ยถึง การคลังภาครัฐนับเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งสังคมเกิดจากสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ปัจเจกบุคคลแต่ละคนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีชีวิตดังกล่าว ในกรณีนี้รัฐบาลก็ทำหน้าที่เปรียบเสมือนหัวใจ บ้านเมืองเปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจที่ต่างกับเครื่องจักรซึ่งเมื่อแยกชิ้นส่วนออกจากกันแล้วยังสามารถนำกลับมาต่อเข้าด้วยกันเหมือนเดิมได้ ในขณะที่การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมกระทำแบบเครื่องจักรไม่ได้ หรือถ้าเปรียบอวัยวะต่างๆ ทั้งหมดในร่างกายของมนุษย์เป็นระบบราชการทั้งระบบการคลังก็อาจเปรียบได้กับหัวใจที่มีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ร่างกายที่มีหัวใจสมบูรณ์แข็งแรงสามารถลำเลียงโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาตามที่สมองสั่งการได้ฉันใด ก็อุปมาดั่งการคลังที่สามารถทำหน้าที่รองรับกลไกระบบการบริหารงานต่างๆ ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น