วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความหมายของ Conflict of Interests

ปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม ( Conflict of Interests ) เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับหลายมิติ ทั้งมิติด้านสังคม การเมือง และการบริหาร ที่สำคัญสะท้อนถึงวัฒนธรรมและค่านิยมในการบริหารที่ด้อยพัฒนา หากข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดจิตสำนึกในหน้าที่ที่จะปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ มีการใช้อำนาจทางราชการโดยมิชอบในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง กลุ่ม พรรค พวกพ้อง เหนือผลประโยชน์ส่วนรวม ย่อมส่งผลกระทบต่อสถาบันราชการ และสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรสร้างความตระหนักและหามาตรการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อนำมาสู่การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและค่านิยม การสร้างจิตสำนึก และเสริมสร้างจริยธรรมของเจ้าหน้าที่และพนักงานของรัฐในการทำงานเพื่อส่วนรวม ยึดถือหลักจริยธรรม และผลประโยชน์ส่วนรวมในการปฏิบัติราชการจึงเป็นเรื่องที่มีความ

สำหรับความหมายของ Conflict of Interests มีความหลากหลาย รวมถึง

“ ผลประโยชน์ทับซ้อน”

“ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ”

“ การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ”

“ การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมจากการดำรงตำแหน่งสาธารณะ ”

Conflict of Interests มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1.เรื่องผลประโยชน์ส่วนบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลประโยชน์ทางการเงิน

2.เรื่องของการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่

3.การปฏิบัติหน้าที่โดยใช้สถานะ และขอบเขตอำนาจของเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานของรัฐ

และย้ำว่า เป็นประเด็นการขาดจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เขาได้อ้างอิงงานของเคนเนท เคอร์นักฮาน และจอน ลางฟอร์ด และได้ประมวลการกระทำที่อยู่ในข่าย Conflict of Interests ได้แก่ การหาประโยชน์ให้ตนเอง Self dealing ได้แก่ การใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อตนเอง เช่น ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ทำให้บริษัทตัวเองได้งานรับเหมาจากรัฐ หรือฝากลูกหลานเข้าทำงาน

การกระทำที่อยู่ในข่าย Conflict of Interests

รับผลประโยชน์ ( Accepting Benefits ) คือ การรับสินบนหรือรับของขวัญ เช่น เป็นเจ้าพนักงานสรรพากรแล้วรับเงินจากผู้มา เสียภาษี หรือเป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้อแล้วไปรับไม้กอล์ฟจากร้านค้า เป็นต้น

ใช้อิทธิพล ( Influence Peddling ) เป็นการเรียกผลตอบแทนในการใช้อิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่ เพื่อส่งผลที่เป็นคุณแก่ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม

ใช้ทรัพย์สินของนายจ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตน ( Using employer’s property for private advantage ) ได้แก่ การใช้รถราชการ หรือใช้คอมพิวเตอร์ของราชการทำงานส่วนตัว เป็นต้น

ใช้ข้อมูลลับของราชการ ( Using confidential information ) เช่น รู้ว่าราชการจะตัดถนน แล้วรีบชิงไปซื้อที่ดักหน้าไว้ก่อน

รับงานนอก ( Outside employment or moonlighting ) ได้แก่ การเปิดบริษัทหากินซ้อนบริษัทที่ตนเองทำงาน เช่น เป็นพนักงานขายแอบเอาสินค้าตัวเองมาขายแข่ง หรือเช่นนักบัญชีที่รับงานส่วนตัวจนไม่มีเวลาทำงานบัญชีในหน้าที่ให้ราชการ

ทำงานหลังออกจากตำแหน่ง ( Post Employment ) เป็นการไปทำงานให้ผู้อื่นหลังออกจากงานเดิม โดยใช้ความรู้หรืออิทธิพลที่เดิมมาชิงงาน หรือเอาประโยชน์โดยไม่ชอบธรรม เช่น เอาความรู้ในนโยบาย และแผนของธนาคารชาติไปช่วยธนาคารเอกชนหลังเกษียณ

แนวทางป้องกันและแก้ไข

สำหรับมาตรการแก้ไข และป้องกัน อาจทำโดยออกเป็นมาตรการเร่งด่วนหรือระยะสั้น มาตรการระยะยาว และมาตรการเชิงกลยุทธ์ ดังนี้

มาตรการระยะเร่งด่วน / ระยะสั้น ที่จะลดปัญหา Conflict of Interests คือ

-สร้างความชัดเจน และลดการใช้ดุลยพินิจ

-ดูแลควบคุมขนาดประโยชน์ ยิ่งประโยชน์มากยิ่งเย้ายวนและจูงใจให้คนเข้าไปแสวงประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม

-ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ซึ่งจะนำไปสู่การลดการผูกขาดและลดการแสวงประโยชน์

-ลดความซับซ้อนของระบบ ช่วยลดขั้นตอน และลดการ แทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์

มาตรการระยะยาว

เป็นเรื่องของสังคม และการสร้างจิตสำนึกในแต่ละหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผล ประโยชน์ควรมีการปฏิบัติในระบบเปิด

-การกำหนดให้มีบุคคลภายนอกหลาย ๆ ฝ่ายเป็นกรรมการคอยสอดส่องดูแล โดยเฉพาะหน่วยจัดซื้อจัดจ้างต้องตรวจสอบให้โปร่งใส โดยตัวแทนจากหลาย ๆ ฝ่าย ซึ่งเป็นมาตรการที่ป้องกันการกระทำที่แสวงประโยชน์ได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญต้องมีการตรวจสอบมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

-ในระยะยาวมีการปลูกฝัง อบรมสั่งสอนตั้งแต่เด็ก มีกระบวนการสรรสร้างความรู้ให้วิถีชีวิตของเด็กใช้หลักเหตุผลหล่อหลอมวิธีคิดและสามารถเชื่อมโยงได้ว่าอะไรคือสาธารณะ เป็นกระบวนการหล่อหลอมความคิด

มาตรการเชิงกลยุทธ์ ควรให้ความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้ คือ

-การเสริมสร้างระบบวัฒนธรรมและจรรยาวิชาชีพ การมีมาตรการที่สร้างในองค์การอาจไม่สำเร็จ จึงต้องมีกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ( Socialization Process ) โดยเฉพาะการขัดเกลาคนก่อนที่จะเข้ามาในองค์การ มีการกลั่นกรองคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะเข้ามาทำงานมากกว่าการมองคนเก่งอย่างเดียว


-จัดระบบการศึกษา การฝึกอบรมบุคลากรให้เข้าใจเรื่อง Conflict of Interests เน้นการใช้ประโยชน์โดยใช้สื่อสารมวลชน ด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ ป้ายประชาสัมพันธ์

-ให้ความสำคัญกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เน้นความเข้มแข็งของชุมชนในระดับรากหญ้า เพื่อเป็นพลังในการผลักดัน ตรวจสอบและแก้ไขปัญหา Conflict of Interests ในสังคมไทย

-มีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวด ปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาทางการปกครองให้เคร่งครัด มีการบังคับใช้ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา Conflict of Interests อย่างจริงจัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น