วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

Agency Problems

การที่กรรมการและผู้บริหารบริษัท เป็นคนละคนกับผู้ถือหุ้น ทำให้เกิดปัญหาที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "ปัญหาตัวแทน" (agency problem) กล่าวคือ ผลประโยชน์ของกรรมการและผู้บริหารในบางกรณีอาจไม่ตรงกัน หรือแม้แต่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นที่แต่งตั้งให้พวกเขาเป็นตัวแทน เช่น ซีอีโออาจต้องการนำกำไรของบริษัทส่วนหนึ่งไปซื้อกิจการของบริษัทคู่แข่ง เพื่อขยายธุรกิจและทำให้ตัวเองมีชื่อเสียง แทนที่จะส่งกำไรนั้นคืนให้กับผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล หลายครั้ง ผลประโยชน์ที่ขัดกันนั้นเป็น "ปัญหาโลกแตก" ที่ไม่มี "ทางออก" ง่ายๆ เพราะการตัดสินว่าอะไรดีไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง และแนวโน้มของอนาคตนั้นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย ซึ่งมีปัจจัยและรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย เช่น ซีอีโออาจพยายามอธิบายต่อผู้ถือหุ้นว่าการนำกำไรไปซื้อกิจการคู่แข่งนั้นจะทำให้กำไรของบริษัทดีขึ้นมากในระยะยาว ซึ่งจะทำให้บริษัทจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นมากขึ้นด้วย แต่ผู้ถือหุ้นบางรายอาจแย้งว่า การซื้อกิจการนั้น "ไม่คุ้ม" เพราะคนขายตั้งราคาสูงเกินไป และกิจการนั้นก็ไม่ได้มีแนวโน้มดีอย่างที่ซีอีโอเชื่อ ฯลฯ

ข้อเท็จจริงประการที่สองคือ "เจ้าของ" (ผู้ถือหุ้น) บริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่ตระกูลผู้ก่อตั้งกลุ่มเดียวอีกต่อไป หากประกอบด้วยผู้ถือหุ้นหลายประเภท หลายฝ่าย ซึ่งมีเป้าหมายและกลยุทธ์ในการลงทุนแตกต่างกัน เราอาจแบ่งนักลงทุนทุกประเภทออกเป็นสองประเภทกว้างๆ คือ "นักลงทุนรายย่อย" หมายถึงคนธรรมดาที่ซื้อขายหุ้นทีละตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสนหุ้น (ถ้าซื้อมากกว่านั้นคงไม่ใช่ "รายย่อย" จริง แต่เป็น "ขาใหญ่" มากกว่า) และ "นักลงทุนสถาบัน" คือนิติบุคคลประเภทต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ได้รับมอบหมายให้ลงทุนในหุ้นแทนลูกค้า (ซึ่งอาจเป็นนิติบุคคล หรือนักลงทุนรายย่อย) นักลงทุนสถาบันสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกมากมายตามเป้าหมายของการลงทุน เช่น กองทุนรวม (mutual fund) จะเน้นหุ้นดีมีปัจจัยพื้นฐานรองรับเพื่อลงทุนระยะยาว กองทุนเฮดจ์ฟันด์ (hedge fund) จะเน้นการเก็งกำไรระยะสั้น ซื้อเร็วขายเร็ว และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (pension fund) จะเน้นหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก เพราะลูกค้าคือพนักงานบริษัทที่ต้องการถอนเงินไปใช้หลังเกษียณ ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศมหาอำนาจต่างๆ อาทิ อเมริกา อังกฤษ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ลงทุนเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในตลาดทุนทั่วโลก เป็นประเภทนักลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน (ในแง่ปริมาณเงินภายใต้การบริหารจัดการ)

การที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เลือกลงทุนในกองทุนต่างๆ ที่มีมืออาชีพบริหารเงินลงทุนให้ แทนที่จะซื้อหุ้นเองโดยตรง ส่งผลให้ช่องว่างระหว่าง "ผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง" (ultimate beneficiary) จากการถือหุ้น (เช่น คนที่ได้รับเงินปันผล) และ "ผู้ถือหุ้น" ที่ปรากฏบนทะเบียนผู้ถือหุ้น (เช่น ชื่อกองทุน) ขยายห่างมากกว่าเดิม นอกจากนี้ การเติบโตของบริษัทเฉพาะด้านที่ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้หรือถือหุ้นแทนกองทุน (ในรูปของทรัสต์ คัสโตเดียน หรือนอมินี) ยังทำให้ช่องว่างขยายใหญ่ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง (กองทุนต่างๆ ชอบใช้บริการของนอมินีเพราะจะได้ไม่ต้องพะวงเรื่องเอกสารต่างๆ สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการบริหารพอร์ตลงทุนได้อย่างเต็มที่)

ช่องว่างที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ระหว่าง "ผู้ถือหุ้น" และ "ตัวแทนผู้ถือหุ้น" และ "กรรมการ/ผู้บริหาร" ที่ทำให้กรรมการหรือผู้บริหารสามารถฉ้อโกงบริษัทหรือผู้ถือหุ้นได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ คือเหตุผลหลักที่ทำให้โครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารจัดการบริษัท (ซึ่งเป็นนิยามที่แคบที่สุดของ "ธรรมาภิบาลบริษัท") เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น